ท่าทีใหม่ของ"อเมริกา"
เห็นท่าทีนายแดเนียล
รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เมื่อวานนี้แล้วก็ทำให้เห็นถึงปฏิกิริยาร้อนรนอยู่ไม่น้อย ซึ่งสะท้อนจากคำพูดของ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ออกมาเปิดเผยทำให้เห็นภาพบวกของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ก่อนหน้านี้มองว่ามหาอำนาจประชาธิปไตยขี่ประเทศเล็กอย่างไทยที่เป็นเผด็จการ
ด้วยลีลาของพลเอกประยุทธ์
ที่ออกมาระบุว่าไทยพร้อมให้การสนับสนุนบทบาทสหรัฐอเมริกา
ในการทำให้ภูมิภาคนี้มีความเข้มแข็ง ขณะที่ไทยไม่ได้มองว่าเป็นผู้นำอาเซียน
แต่จะทำหน้าที่ประสานประเทศต่างๆ ในอาเซียนก้าวไปอย่างเข้มแข็ง
และรู้สึกยินดีที่สหรัฐอเมริกากลับมาให้ความสำคัญประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนั้น ยังหันกลับมาให้ความสำคัญประเทศไทย
แม้จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดโดยกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเอง
โดยสหรัฐอเมริกายืนยันพร้อมเดินหน้าไปด้วยกันภายใต้ข้อจำกัด
พยายามลดช่องว่างความสัมพันธ์ที่ผ่านมาและก่อนที่จะจับมือกันเหนียวแน่น
นายกรัฐมนตรีของไทย ก็อธิบายให้เข้าใจสถานการณ์ประเทศไทย โดยขอย้อนกลับไปดูการเมืองในอดีตว่าเกิดอะไรขึ้น
ซึ่งจะทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าใจปัจจุบัน มองอนาคตได้อย่างชัดเจน
พร้อมขอให้มองประเทศไทย อย่ามองที่ตัวบุคคล แต่ขอให้ไปศึกษาเพิ่มเติม
โดยนายกรัฐมนตรีของไทยได้บอกว่าไทยได้ผ่านอะไรมาบ้าง
ประการสำคัญเราไม่ได้ถอยห่างจากหลักประชาธิปไตยเลย
ซึ่งเราทำให้เห็นตัวอย่างแล้วว่าเรากำลังทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง
และเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนคนไทยมีความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง
โดยทางสหรัฐอเมริกาเองแสดงความเข้าใจ
พร้อมบอกว่าในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่อาจถูกนำไปเป็นประเด็นได้
ขอให้ประเทศไทยระมัดระวังเรื่องนี้
โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่าได้ระมัดระวังเรื่องนี้
แต่ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นข่าวที่ออกมาล้วนแต่มีเบื้องหน้า
เบื้องหลังทั้งนั้น เพราะไม่ใช่พลังการเคลื่อนไหวที่บริสุทธิ์
แต่ต้องการสร้างประเด็นให้สหรัฐอเมริกามาสนใจ มากดดัน
ให้ต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศมากดดัน ทั้งนี้
นายกรัฐมนตรีของไทยอยากให้มองหลายมุม อย่ามองมุมประชาธิปไตยมุมเดียว
และขอให้มองแง่มุมของเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศด้วย
ซึ่งเป็นการเตือนให้สหรัฐอเมริกามองหลายมุมมอง
นายกรัฐมนตรีของไทยได้ใช้โอกาสนี้ย้ำถึงเจตนารมณ์ที่สำคัญในการบริหารประเทศ
โดยรักษาสมดุลระหว่าง หนึ่ง ระบอบประชาธิปไตยและการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน
และสอง ความมีเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติ
เพื่อให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นวงจรปัญหาทางการเมืองเดิม โดยย้ำว่าเป้าหมายหลักของรัฐบาล
คือการปฏิรูปที่หยั่งรากลึกและนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แข็งแรง มีรัฐบาลที่โปร่งใส
มีหลักนิติธรรม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยทุกคน ทั้งนี้
ประชาธิปไตยเป็นมากกว่าเพียงการเลือกตั้ง สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในขณะนี้
เป็นการวางรากฐานให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่มั่นคง พร้อมเชื่อว่า
สหรัฐจะไม่นำมาตรฐานเดียวมาพิจารณาการดำเนินการของประเทศต่างๆ
ที่มีระดับการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน
ก่อนทิ้งท้ายว่า การที่นายแดเนียล ได้พบหารือกับภาคส่วนและบุคคลต่างๆ
จะได้รับข้อมูลจากทุกฝ่ายตามความเป็นจริงและได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ
ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญ
ที่นายกรัฐมนตีของไทยต้องการกระตุกเตือนให้สหรัฐอเมริกาแสวงหาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนแสดงท่าทีในการสนองตอบร่วมกับกลุ่มต่อต้านการรัฐประหาร
แม้เราจะเห็นว่าการที่สหรัฐอเมริกามีท่าทีบวกกับไทยมากขึ้นในขณะนี้
จะมีวาระอื่นที่ผูกพันกับผลประโยชน์หลักของสหรัฐอเมริกา ในเรื่องการลงทุน
หรือเรื่องพลังงานอยู่ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีในทางการเมืองและความมั่นคง
ซึ่งการวางน้ำหนักความสัมพันธ์ และข้อพูดคุยของนายกรัฐมนตรีของไทย
ก็แสดงให้เห็นว่ามีความระมัดระวัง
และมองเห็นเป้าประสงค์ของมหาอำนาจที่เข้ามาในขณะนี้อยู่ไม่น้อย.
ไม่มีความคิดเห็น:
ไม่อนุญาตให้มีความคิดเห็นใหม่